
ถอดรหัสภาษากาย รอยยิ้มชัชชาติ เมื่อได้ยินคำตอบเรื่องบ่อน จากปากผบ.ตร.
อีกประเด็นที่คนส่วนหนึ่งให้ความสนใจกับภาษากายจากรอยยิ้มของ ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าฯ กทม. ภายหลังการประชุมร่วมกับพล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา และในช่วง พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงเรื่องบ่อนพนันในเมืองกรุง โดยยืนยันว่า ไม่มีบ่อนแน่นอน ตั้งแต่รับตำแหน่งมาในเดือน ต.ค. ซึ่งระหว่างนั้น ชัชชาติ ได้ฉีกยิ้มขึ้นมาในทันที ทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยถึงรอยยิ้มในลักษณะนี้ของชัชชาติ
ขณะที่ ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ หรือหมอมด ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ภาษากาย (Body Language) และการแสดงออกทางใบหน้า หรือสีหน้า (Facial Expression) ได้เขียนบทความวิเคราะห์ภาษากายผ่านทางเว็บไซต์ส่วนตัวชื่อ Bodylanguageclassroom.com มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือศาสนาใดทั้งสิ้น และได้ถอดรหัสภาษากายจากรอยยิ้มของชัชชาติ กรณี ผบ.ตร.ถูกถามเรื่องบ่อนเถื่อน โดยระบุว่า จากบริบทแวดล้อมจะพบว่ามีการยิ้มหลังจากได้ยินคำถามจากนักข่าว คิดว่าเขารู้สึกขัน หรือ(แอบ) รู้สึกตลกกับคำถามของสื่อมวลชนที่ถามตรงๆ แบบนี้ และมีจังหวะที่ชัชชาติก้มหน้าและมองด้านหน้าล่าง พร้อมรอยยิ้มเสมือนกำลังตั้งใจฟังว่าผบ.ตร.จะตอบว่าอะไร
“รอยยิ้มของคุณชัชชาติในจังหวะนี้ เข้าองค์ประกอบของการเป็น Duchenne’s smile ยิ้มแบบมีความสุข อาจเป็นไปได้ว่าเขาอาจจะรู้สึกตลก หรือขำเล็กๆ ในใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น”
สำหรับการยิ้มเป็นภาษากายในกลุ่มของสีหน้า มีหลายแบบ และหลายความหมาย ซึ่งสามารถจำแยกการยิ้มได้ตามอารมณ์และสถานการณ์ เช่น ยิ้มแบบมีความสุข (Joy, Happy smile, Duchenne’s smile) เป็นการยิ้มที่สัมพันธ์กับอารมณ์ที่มีความสุข หรือสนุก กรณีนี้จะพบการยิ้มที่คู่กับตายิ้มคือการหดตัวของกล้ามเนื้อรอบดวงตา obicularis oculi ทำให้เห็นรอยตีนกาเล็กๆ ที่หางตา
ยิ้มสังคม หรือยิ้มตามมารยาท (Polite smile, Social smile) จะเป็น 90% ของรอยยิ้มที่พบตามภาพถ่ายใน Social media รวมถึงพนักงานต้อนรับพยายามยิ้มให้เราเพื่อทักทายสวัสดี หรือขอบพระคุณ
เป็นการฉีกยิ้มเพื่อให้มุมปากทั้งสองข้างยกขึ้น ถ้าฝืนมากๆ และฉีกยิ้มมากเกินไปอาจจะเห็นฟันหน้าล่างร่วมด้วย รอยยิ้มชนิดนี้แม้บางคนจะยิ้มได้สวย หรือดูดี แต่ก็เป็นไปแบบตั้งใจ หรือฝืนกระทำออกมา โดยไม่สัมพันธ์ใดๆ กับความสุข เป็นรอยยิ้มที่เข้าข่าย “การแสดงทางสังคม”
ยิ้มเพราะอาย หรือเขิน (Shy, Embarrassment) เป็นการยิ้มที่คล้ายมีความสุข แต่จะมีอารมณ์อื่นมาผสมร่วม และมักพบหน้าแดงร่วมด้วย เข้าประโยคที่เรียกว่า “อายจนหน้าแดง” และจะพบภาษากายอื่นๆ ประกอบด้วยเสมอ ตัวอย่างเคส ทิม พิธา เป็นตัวอย่างที่ชัด
ถอดรหัสภาษากาย รอยยิ้มชัชชาติ เมื่อได้ยินคำตอบเรื่องบ่อน จากปากผบ.ตร.
อีกชนิดคือ กลั้นยิ้ม (Suppressed smile) เป็นสภาวะที่เราไม่ต้องการให้รอยยิ้มปรากฏออกมาจากสีหน้า และร่างกายพยายามสะกดเอาไว้ เช่น เห็นเพื่อนหกล้มต่อหน้าเรา และรู้สึกตลกขบขัน แต่ก็ไม่อยากยิ้มออกมาเพราะกลัวเพื่อนจะรู้สึกโกรธ จึงฝืนเกร็งและเก็บสีหน้าเอาไว้ทั้งที่ในใจรู้สึกตลกขบขัน มักจะพบการเกร็งของกล้ามเนื้อรอบปาก และริมฝีปากเกร็งจนยืดบาง และอาจจะพบการกัดฟันด้วย
และมีอีกรอยยิ้มหนึ่งที่พิเศษกว่าทุกๆ แบบทั้งหมด คือ ยิ้มเยาะเย้ย, ดูถูก, สะใจ (Contempt smile) รอยยิ้มชนิดนี้มีอารมณ์ลบและบวกร่วมกันเป็นส่วนประกอบ เช่น อารมณ์เกลียด รังเกียจ เหยียดหยาม รอยยิ้มชนิดนี้สังเกตง่ายเพราะมุมปากสองข้างที่ยกจะยืดไม่เท่ากัน จะเห็นบ่อยในการแข่งขันกีฬาเวลาฝ่ายที่ชนะยิ้มดีใจ.